2021-10-04 13:15:45 Am

โรคขี้ลืมในวัยทำงาน

หลายคนอาจคิดว่าโรคขี้ลืมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนอายุมากเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง แม้แต่คนอายุน้อยก็สามารถมีการความจำที่ไม่ดีได้ โดยเฉพาะวัยทำงาน สาเหตุของโรคขี้ลืมมีหลายอย่าง ดังนี้

 

สาเหตุของโรคขี้ลืมในวัยทำงาน

ก่อนอื่นเราควรเข้าใจกลไกการทำงานของสมอง เพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาโรคขี้หลงขี้ลืมของเรานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร 

1. Input เวลาเราจะจดจำข้อมูลอะไรสักอย่าง สมองของเราจะได้รับการป้อนข้อมูล ซึ่งสมองของเราเปรียบเสมือนองค์กรขนาดใหญ่ หลายส่วนของสมองทำงานร่วมกัน แต่ส่วนที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลคือ ฮิปโปแคมปัส

2. Processor เมื่อเรากำลังนึกถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สมองจะมีการค้นหาข้อมูลผ่านใยประสาทที่มีหลายแขนงมากๆ 

3. Output เมื่อพบข้อมูลที่เราต้องการแล้ว สมองก็จะแสดงผลออกมาเป็นรูปภาพบ้าง เป็นชุดตัวเลข หรืออาจเป็นตัวอักษรตอนที่เราพูดหรือเขียนออกมา

 

หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่าปัญหาขี้ลืมเกิดขึ้นตอนไหน จริงๆ ก็สามารถเกิดขึ้นจากหลายส่วนที่กล่าวมาข้างต้น

 

ในส่วนของ Input  ตอนที่เรากำลังรับข้อมูลนั้น เราอาจกำลังเผชิญอยู่กับความเครียด มีเรื่องให้คิดและกังวลมากมาย ทำให้ขาดสมาธิ ส่งผลให้รับข้อมูลได้ไม่เต็มที่ ขณะที่บางคนที่มีอายุมากแล้ว อาจมีปัญหาเรื่องหูตึง คนรอบตัวอาจเข้าใจว่าสมองเสื่อม ทั้งที่จริงเพียงแค่หูตึง จึงไม่ค่อยได้ยินเวลาที่มีการสื่อสาร

 

โรคบางโรคส่งผลต่อการทำงานของ Processor (การส่งกระแสประสาท) ทำให้ประสาทวิ่งช้า อาการที่พบได้ทั่วไปคือ อาการคล้ายความจำไม่ดี นึกอะไรนาน คุ้นกับข้อมูลบางอย่าง แต่นึกไม่ออก ต้องให้ข้อมูลถึงจะจำได้ โรคที่รบกวนการทำงานของ Processor เช่น ไทรอยด์ผิดปกติ โรคติดเชื้อไวรัส โรคของปลอกหุ้มประสาท หรือคนที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองเล็กๆ ตีบ

 

วิธีแก้ไขปัญหาโรคขี้ลืมในวัยทำงาน

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

ในวัยทำงานควรนอนหลับพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง หากนอนไม่หลับเป็นเวลานาน ควรตัดสินใจเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางรักษา เพราะการนอนไม่หลับ ส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้า เครียด หงุดหงิด รวมถึงขี้ลืม

 

2. จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะส่วนของฮิปโปแคมปัส ซึ่งทำงานเกี่ยวกับความจำ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองส่วนนี้ลดลง และเกิดอาการหลงลืมได้

 

3. ผ่อนคลายความเครียด

ทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับสภาวะต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ ย่อมทำให้คนเราเครียดได้ง่ายๆ นอกจากความเครียดแล้ว ความรู้สึกด้านลบ เช่น ความเศร้าหมอง ความกังวล ความกลัว ล้วนเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อความจำ เพราะสมองจะหลั่งสารสื่อประสาทมากกว่าปกติ ทำให้เกิดปัญหากลายเป็นคนขี้ลืม และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนอนไม่หลับ 

 

4. โรคและยาบางชนิดที่เลี่ยงยาก แต่เราต้องดูแลตัวเองให้ดี

การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เป็นโรคอ้วนได้ และคนที่ป่วยเป็นโรคอ้วนจะมีไขมันในเลือดสูง อันจะส่งผลต่อการทำงานของสมองในทางอ้อม ทำให้สมองทำงานผิดปกติ และยังส่งผลต่อความจำอีกด้วย 

 

ขณะเดียวกัน ยาบางชนิดยังส่งผลข้างเคียงต่อการทำงานของสมอง เช่น ยาระงับประสาท ยาลดไขมันในเลือด ฯลฯ ทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มที่ และส่งผลต่อความจำอย่างเลี่ยงได้ยาก

 

สำหรับคนที่ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ก็ควรหมั่นดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้ตัวเองเจ็บป่วย ส่วนคนที่กำลังอยู่ในช่วงเจ็บป่วย ก็ควรดูแลตัวเองให้ดีกว่าเดิม อย่าให้การเจ็บป่วยมาเป็นตัวฉุดรั้งความสุขในชีวิต

 

5. การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงอยู่คู่กับโลกนี้มาแต่ไหนแต่ไร เราเองเมื่อมีอายุที่มากขึ้น โรคขี้ลืมก็อาจจะมาเยือนได้ โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ดังนั้น ควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยเพื่อให้ร่างกายเสื่อมช้าที่สุด เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ เป็นต้น

 

อ้างอิง: 

synphaet.co.th

petcharavejhospital.com