2022-07-11 16:03:36 Am

ความฉลาดทางอารมณ์ในที่ทำงาน

ในยุคดิจิทัล โลกของการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่ทำงานอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พนักงานได้มีการทำงานที่บ้าน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก ก็สามารถทำงานได้ แม้ว่าเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำมาซึ่งโอกาสและประโยชน์มากมาย แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่ละทิ้งความเป็นมนุษย์ และในที่ทำงานส่วนใหญ่เรายังคงต้องรับมือกับมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร และในฐานะมนุษย์ การตัดสินใจของเราทั้งหมด เกิดขึ้นจากอารมณ์และประสบการณ์ ดังนั้นคนและอารมณ์จึงแยกกันไม่ออก

 

ปัจจุบันทักษะทางอารมณ์เป็นที่ต้องการในตัวพนักงานและผู้นำมากขึ้น เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ และความซื่อสัตย์ เพราะความสามารถทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของการทำงาน กลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างในการแข่งขันในธุรกิจ โดยในปี พ.ศ. 2560 Deloitte คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2573 งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องการพนักงานที่มี Soft Skills คิดเป็นสองในสามของงานทั้งหมด และมีแนวโน้มจะจ้างพนักงาน Soft Skills มากขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน ดัชนี Empathy ประจำปี พ.ศ. 2559 ของ Harvard Business Review แสดงให้เห็นว่าการเอาใจใส่ มีความสำคัญต่อธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งสัมพันธ์กับการเติบโต ผลิตภาพ ความพึงพอใจของลูกค้า และรายได้ที่สูงขึ้น

 

ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) คืออะไร? และมีบทบาทอย่างไรในที่ทำงาน?

 

ความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ คือความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของตนเองและของผู้อื่น โดยความฉลาดทางอารมณ์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ความตระหนักในตนเอง การจัดการตนเอง การรับรู้ทางสังคมหรือทักษะทางสังคม และการจัดการความสัมพันธ์ ดังนั้น คนที่มี EQ สูงมีแนวโน้มที่จะมีความเห็นอกเห็นใจ มีสติสัมปชัญญะ คล่องแคล่ว มีไหวพริบ และจริงใจมากขึ้น แล้วพนักงานที่มี EQ สูงสามารถเพิ่มมูลค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรได้อย่างไร?

 

1. ความเห็นอกเห็นใจช่วยให้พนักงานสื่อสารระหว่างกันดีขึ้น

พนักงานที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง สามารถปรับรูปแบบการสื่อสารให้เข้ากับคนอื่นหรือกลุ่มคนที่กำลังโต้ตอบด้วย การตระหนักรู้ในตนเองยังช่วยให้เป็นผู้ฟังที่ดี และสามารถรับฟังผู้อื่นด้วยเจตนาที่จะเข้าใจ มากกว่าการตอบสนองเพียงอย่างเดียว การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ ทำให้สามารถสนทนากันอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และสร้างสรรค์

 

2. ความสามารถในการปรับตัวช่วยให้การแก้ปัญหาต่างๆ ราบรื่นขึ้น

การตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พนักงานที่มี EQ สูงสามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนและสถานการณ์รอบตัวได้เป็นอย่างดี ทำให้มีความยืดหยุ่นและเปิดรับการเปลี่ยนแปลง เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ และสำรวจโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ การใช้อารมณ์อย่างเหมาะสมในการจัดการและแก้ปัญหา ยังมีแนวโน้มที่จะยอมรับคำติชมและคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ได้ดี

 

3. แรงจูงใจทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วง

คนที่ฉลาดทางอารมณ์มีแนวโน้มที่จะมีตัวขับเคลื่อนในตนเอง และมีวินัยในตนเองมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะกระตือรือร้นในการริเริ่มและทำงาน หรือรับประกันว่างานจะเสร็จลุล่วง และมักจะมีความคิดแบบผู้นำโดยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมและเป็นจูงใจให้เพื่อนร่วมงานได้ดี สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการปรับปรุงผลงานของทีมได้

 

4. ความสามารถในการจัดการอารมณ์ช่วยลดความขัดแย้ง

พนักงานที่มีทักษะในการจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น แม้อยู่ภายใต้แรงกดดัน ก็จะสามารถจัดการและแก้ไขความขัดแย้งได้ดี และยังมุ่งเน้นไปที่การพูดคุยอย่างมีประสิทธิผลและหาทางแก้ไข มากกว่าการใช้อารมณ์ฟาดฟันกันให้เจ็บช้ำ

 

5. สติช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีม

พนักงานที่ฉลาดทางอารมณ์ มีความสามารถพิเศษในการสร้างสายสัมพันธ์และความสัมพันธ์ และตระหนักรู้และประเมินความต้องการและข้อกังวลของผู้อื่น ทั้งยังส่งเสริมการเคารพซึ่งกันและกัน ความเห็นอกเห็นใจและการทำงานร่วมกัน และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้การสนับสนุน เจริญรุ่งเรืองและเป็นบวก ช่วยรักษาพนักงานและดึงดูดผู้มีความสามารถใหม่

 

6. ส่งเสริมความร่วมมือในทีม

พนักงานที่มี EQ สูงมักมีทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม ทั้งยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อทางอารมณ์กับผู้อื่น เข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าและคู่ค้าได้ดี การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานและความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและการลงทุน

 

 

 

 

อ้างอิง: hospitalityinsights.ehl.edu