2022-07-07 15:57:29 Am

แก้นิสัยขี้เกรงใจ ฉบับมนุษย์เงินเดือน

แม้ว่าการมีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงานจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การทำอะไรเพื่อคนอื่นมากเกินไป จนลืมนึกถึงตัวเอง และส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ก็อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองหาสมดุลให้กับชีวิต ปรับความขี้เกรงใจลงอีกนิด ชีวิตก็อาจจะปลอดโปร่งขึ้น สำหรับมนุษย์เงินเดือนบางคน อาจจะมีความขี้เกรงใจมากกว่าคนอื่น ใครขอให้ทำอะไรก็ทำให้ทุกอย่าง ไม่รู้จักคำว่าปฏิเสธ จนทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ แล้วแบบนี้จะมีวิธีแก้นิสัยขี้เกรงใจ ได้อย่างไร?

 

1. ปรับความคิดใหม่

นิสัยขี้เกรงใจไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป หากเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของความเกรงใจ เราอาจจะชอบมันขึ้นมาก็ได้ แต่ก็ต้องนำไปใช้ในทางที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อนและเป็นทุกข์… เกรงใจ หมายถึง ความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่อยากให้คนอื่นรู้สึกลำบาก เดือดร้อนและรำคาญใจ พอจะมองเห็นภาพกันหรือเปล่าคะ เช่น เราชอบกินผัดสะตอมาก สามารถทำกินที่บ้านได้ทุกวันไม่มีเบื่อ ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่า สะตอมีกลิ่นที่แรงมาก หากจะนำมาทำอาหารทุกวัน ก็เกรงใจเพื่อนบ้าน กลัวว่าเพื่อนบ้านจะเหม็น เป็นต้น การที่เราไม่ผัดสะตอกินทุกวัน เพราะกลัวเพื่อนบ้านไม่ชอบ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สำหรับการทำงาน หากมีเพื่อนร่วมงานมาขอให้ช่วยทำงานแทน เพราะต้องรีบไปดูหนังกับแฟน แบบนี้ก็ถือว่าไม่สมควร ดังนั้น ก็ไม่ควรรู้สึกลำบากใจที่จะพูดปฏิเสธออกไป

 

2. ฝึกแสดงความคิดเห็น แม้จะมีคนไม่เห็นด้วย

การแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ และตรงไปตรงมา ก็เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเรามากขึ้น การฝึกแสดงความคิดเห็นนี้ เราอาจจะไม่คาดหวังให้คนอื่นเห็นด้วยเสมอไป แต่ฝึกการแสดงออกเพื่อให้คนอื่นเข้าใจเรามากขึ้น เช่น เมื่อเพื่อนร่วมงานขอร้องให้ช่วยบางอย่าง แต่เราไม่สามารถช่วยได้จริงๆ เราก็ควรบอกกับเพื่อนร่วมงานไปตรงๆ พร้อมกับอธิบายเหตุผล หากปกติเราเป็นคนที่ไม่เคยปฏิเสธใคร ในครั้งแรกที่ลองทำ เพื่อนร่วมงานอาจจะแสดงความไม่พอใจหรือไม่ก็ได้ อะไรที่ลองทำครั้งแรกมักจะเป็นเรื่องยาก แต่หากสิ่งที่เราปฏิเสธไปเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บมาคิดมาก ดีกว่ายอมช่วยเหลือคนอื่นแล้วตัวเองต้องมาเดือดร้อนทีหลัง

 

3. ลองพูดคำว่าไม่ แม้จะมีคนไม่พอใจ

หากเราเคยชินกับการพูดคำว่า “ได้” มาโดยตลอด ก็ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดคำว่า “ไม่” บ้าง เพราะบางคนก็ชินกับการที่มีเราคอยช่วยเหลือ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังขอให้ช่วยเหลือ เคล็ดลับในการพูดคำว่าไม่ คือ ให้เราลองพิจารณาดูว่าสิ่งที่เพื่อนร่วมงานขอให้ช่วยนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เขาเดือดร้อนจริงๆ หรือเปล่า แล้วตัวเราสามารถช่วยเหลือได้โดยที่ไม่เดือดร้อนใช่หรือไม่ หากคำตอบคือใช่ ก็สามารถตกปากรับคำให้ความช่วยเหลือได้เลย แต่ถ้าไม่ล่ะก็ เราก็สามารถพูดคำว่า “ไม่” ได้อย่างไม่ต้องรู้สึกผิด

 

4. พัฒนาบุคลิกภาพ

บางครั้งการที่เราเป็นคนขี้เกรงใจอาจจะเกิดจากการขาดความมั่นใจในตัวเอง กลัวการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือแม้แต่กลัวการเข้าสังคม ทำให้มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามคนอื่นได้ง่ายๆ หากเรารู้ตัวว่ามีบุคลิกภาพตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเอง ทั้งจากการอ่านหนังสือ หรือเข้าคอร์สเรียนเสริมบุคลิกภาพ เพื่อให้กลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และกล้าที่จะปฏิเสธผู้อื่นมากขึ้น

 

5. มองโลกตามความเป็นจริง

การพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองในช่วงแรก อาจจะทำให้เรารู้สึกท้อแท้ได้ รวมถึงการเจอปฏิกิริยาจากเพื่อนร่วมงานที่อาจจะไม่พอใจ จะยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่ และไม่อยากฝึกฝนตัวเองอีกแล้ว แต่ก็อย่างที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า การทำสิ่งใหม่ๆ ในช่วงแรกมักจะมีความยากลำบากเสมอ อยากให้ใครก็ตามที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ ให้ลองเปิดใจ เอาตัวเองออกมาจากปัญหา และมองกลับเข้าไปให้เห็นภาพกว้าง อย่ามองเห็นแต่ด้านไม่ดี หรือมองแต่ด้านที่ดีเกินไป อยากให้มองโลกตามที่มันเป็นมากกว่า เพราะการยึดติดกับด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป จะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกสุดโต่ง จนทำให้เป็นทุกข์ได้

 

ความเกรงใจไม่ได้เป็นตัวร้ายเสมอไป แต่การนำไปใช้ไม่ถูกวิธีต่างหากที่จะทำให้เราเดือดร้อน ดังนั้นควรทำความใจกับความหมายของคำนี้อย่างถ่องแท้ แล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม จงเป็นคนขี้เกรงใจที่ถูกต้อง และพยายามฝึกฝนแม้จะเจอกับความไม่พอใจของคนรอบข้าง แล้วเราจะรู้เองว่าในวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เราควรจะรักษาใครไว้ในชีวิต

 

 

 

 

อ้างอิง: today.line.me