2021-10-26 11:35:26 Am

วิธีรับมือกับความวิตกกังวลที่มากเกินไป

ความวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติของชีวิต และทุกคนก็ประสบกันมาในระดับหนึ่ง การจัดการกับความวิตกกังวลอาจเป็นเรื่องยากเมื่อถึงจุดที่คุณรู้สึกว่ามันสุดโต่งหรือควบคุมไม่ได้ เมื่อความวิตกกังวลรุนแรงจนกลายเป็นภัยคุกคาม อาจนำมาซึ่งสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิต บทความนี้กำลังจะกล่าวถึงวิธีเบื้องต้นในการรับมือกับความวิตกกังวล แต่หากคุณรู้สึกว่าความวิตกกังวลของคุณมากเกินไปและก่อกวนชีวิต เราแนะนำให้ปรึกษาแพทย์จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด 

 

ความวิตกกังวลที่มากเกินไปคืออะไร?

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าความวิตกกังวลที่มากเกินไปไม่ใช่การวินิจฉัย แต่เป็นสิ่งที่ผู้คนอธิบายประสบการณ์ความวิตกกังวลอย่างรุนแรงของตนเอง การประสบความวิตกกังวลอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล คนหนึ่งอาจมีอาการเหมือนท้องไส้ปั่นป่วน ในขณะที่อีกคนอาจมีอาการตื่นตระหนก หากคุณกำลังประสบกับความวิตกกังวล ซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตด้านต่างๆ เช่น การทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์ ในกรณีนี้ก็มีโอกาสที่คุณจะเป็นโรควิตกกังวลได้

 

ความวิตกกังวล VS. โรควิตกกังวล

ความวิตกกังวลในระดับปกติจะช่วยคุณเตรียมความพร้อมสำหรับตอบสนองความเครียดที่กำลังจะเกิดขึ้น ความแตกต่างระหว่างความวิตกกังวลตามปกติกับความวิตกกังวลอย่างสุดโต่งคือ ผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานของคุณและระดับความทุกข์ที่เกิดขึ้น เมื่อความวิตกกังวลทวีความรุนแรงขึ้น อาจทำให้คุณไม่สามารถทำงานหรือเข้าสังคมได้ตามปกติ มันสามารถทำให้เกิดความทุกข์รุนแรงจนคุณเริ่มหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดความวิตกกังวลได้

 

สัญญาณของความวิตกกังวลที่มากเกินไป

หากความรู้สึกวิตกกังวลของคุณรุนแรงในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อชีวิต ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะเป็นโรควิตกกังวลบางประเภท เฉพาะแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยโรควิตกกังวลได้ แต่อาการบางอย่างก็อาจบ่งบอกถึงความวิตกกังวลสุดขีดได้ ดังนี้

 

1) อาการทางกายที่เกิดจากความวิตกกังวล เช่น หัวใจเต้นเร็ว อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น เหงื่อออก ตัวสั่น และหายใจถี่

2) ความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลอย่างสุดโต่งที่ไม่สมเหตุสมผล

3) กลัวหรือกังวลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีเหตุผล

4) หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับแหล่งที่มาของความกลัว

5) ถอนตัวจากสังคมหรือแยกตัวจากเพื่อนและครอบครัว

6) รู้สึกหงุดหงิดและกระสับกระส่าย

7) มีปัญหาการนอนหลับ

8) มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง

9) รู้สึกไม่สบายใจและวิตกกังวล

10) สมาธิสั้น หรือไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ

11) เกิดปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน

12) มีปัญหาด้านมนุษยสัมพันธ์และความสัมพันธ์

13) คิดฆ่าตัวตาย

 

ความวิตกกังวลที่มากเกินไปสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้เสียขวัญ เกิดเป็นอาการแพนิค (Panic Attack) มีอาการกลัวหรือรู้สึกไม่สบายอย่างกะทันหัน พร้อมกับความรู้สึกทางกายภาพ เช่น หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ ตัวสั่น หนาวสั่น รู้สึกสูญเสียการควบคุม

 

ประเภทของความวิตกกังวล

โรควิตกกังวลมีหลายประเภท แต่แพทย์หรือนักบำบัดโรคเท่านั้นที่จะสามารถประเมินอาการของคุณและพิจารณาว่าคุณมีอาการอย่างไร

 

1) โรควิตกกังวลทั่วไป มีลักษณะเป็นความรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ กิจกรรม และสถานการณ์ต่างๆ ควบคู่ไปกับอาการอื่นๆ เช่น กระสับกระส่าย เหนื่อยล้า มีปัญหาในการจดจ่อ หงุดหงิด กล้ามเนื้อตึงเครียด และนอนไม่หลับ

 

2) โรคย้ำคิดย้ำทำ มีลักษณะคิดซ้ำๆ วนไปวนมา ผู้ที่มีภาวะนี้อาจต้องการบรรเทาความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดขึ้นชั่วคราว

 

3) โรคตื่นตระหนก เกิดจากการเผชิญกับสถานการณ์รุนแรงที่ทำให้เสียขวัญ ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ระหว่างที่ตื่นตระหนก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรู้สึกวิตกกังวลอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว และมักรู้สึกว่าตนเองสูญเสียการควบคุม

 

4) ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการวิตกกังวลอย่างมากเนื่องจากการสัมผัสกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อาการต่างๆ อาจรวมถึงการตื่นตัวมากเกินไป 

 

5) โรควิตกกังวลทางสังคม มีลักษณะเป็นความรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากในสถานการณ์ทางสังคม ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะพยายามจำกัดหรือหลีกเลี่ยงสังคม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำงาน ความสัมพันธ์ และการเรียน

 

ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ

ความวิตกกังวลเป็นหนึ่งในภาวะสุขภาพจิตที่พบบ่อยที่สุด ตามข้อมูลของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (NIMH) ในแต่ละปีผู้ใหญ่ร้อยละ 19.1 ในสหรัฐอเมริกาประสบกับโรควิตกกังวล และประมาณร้อยละ 31.1 จะประสบกับโรควิตกกังวลในบางช่วงของชีวิต

 

โรควิตกกังวลมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองความวิตกกังวลในระหว่างการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

หากความวิตกกังวลส่งผลกระทบต่อการทำงาน หรือสร้างความทุกข์ให้กับชีวิต คุณต้องขอความช่วยเหลือ เพราะความวิตกกังวลมักจะไม่หายไปเองและมักจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป การลดความวิตกกังวลเช่น การหลีกเลี่ยง จะยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก ดังนั้นหากคุณกำลังประสบกับความวิตกกังวลอย่างรุนแรง คุณควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถวินิจฉัยอาการของคุณและแนะนำตัวเลือกทางการรักษา ที่สามารถช่วยคุณต่อสู้กับความรู้สึกวิตกกังวลได้

 

วิธีรับมือกับความวิตกกังวลที่มากเกินไป

การใช้ชีวิตด้วยความวิตกกังวลอาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ ต่อไปนี้เป็นวิธีรับมือกับความวิตกกังวลที่มากเกินไปบางประการ ซึ่งจะช่วยจัดการกับอาการวิตกกังวลได้ในระดับหนึ่ง

 

1) ปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

การมีคนคอยช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความผาสุกทางจิตใจ เมื่อคุณต้องรับมือกับปัญหาความวิตกกังวลอย่างสุดขั้ว ให้พูดคุยกับคนที่คุณรักและเชื่อถือได้เกี่ยวกับอาการของคุณ

 

2) ฝึกสติ

ฝึกสติ ฝึกการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน และไม่ต้องกังวลกับปัญหาในอดีตหรืออนาคต ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยระงับความวิตกกังวล ทำให้ร่างกายสงบ และมีสติสัมปชัญญะมากขึ้น 

 

3) หายใจลึกๆ 

ความวิตกกังวลมักจะทำให้คุณหายใจสั้นและเร็ว การวิจัยพบว่าเทคนิคการหายใจช้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย รวมถึงการลดอาการวิตกกังวล เทคนิคนี้ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการในช่วงที่มีความเครียดได้อีกด้วย

 

4) หลีกเลี่ยงพฤติกรรมหลบหลีก

การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คุณกังวลสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ในระยะสั้นเท่านั้น และกลยุทธ์นี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ความวิตกกังวลแย่ลงในระยะยาว แทนที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ให้เน้นที่การจัดการกับสิ่งเหล่านั้นทีละน้อย ใช้กลยุทธ์การผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึกๆ และเตือนตัวเองว่าความคิดกังวลเป็นเพียงความคิด

 

อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลที่มากเกินไป อาจสร้างความทุกข์ใจอย่างมากและทำให้ยากต่อการทำงานและการดำเนินชีวิต หากคุณกำลังเผชิญกับอาการวิตกกังวลที่มากเกินไป ให้ปรึกษาแพทย์ แพทย์จะแนะนำการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายจากความรู้สึกวิตกกังวลเหล่านี้ได้

 

 

 

 

 

 

 

 


 

---พิเศษ!!! สำหรับผู้ที่กำลังมองหางานใหม่ หรือบริษัทที่มองหาพนักงาน วันนี้ bestjoth.com พร้อมแล้วที่จะช่วยทุกคนตามหาสิ่งที่ใช่ ไม่ว่าจะหางาน สมัครงาน รับสมัครงาน งานในประเทศ งานต่างประเทศ เพียงไปที่เว็บไซต์ของเราและลงทะเบียน!---


 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง: Extreme Anxiety: Symptoms, Types, Treatments, and Coping (verywellmind.com)